เวลามีไอเดียดีๆ แล้วลองพูดคุยปรึกษาหลายๆคนแล้ว เคยสับสนกันบ้างมั้ยคะว่าจะฟังใครดี? เพราะแต่ละคนก็หวังดีกับเราทั้งนั้นเลย
วันนี้เราจะแนะนำวิธีแยกคำแนะนำที่เราใช้อยู่เป็นประจำและได้ผลดีซะด้วย จะเลือกอ่านทั้งบทความเพื่ออรรถรส หรือเลือกอ่านเฉพาะหัวข้อที่สนใจก็คลิกที่ด้านล่างได้เลย
มีไอเดียแล้ว ปรึกษาคนอื่นดีมั้ย?
ขึ้นชื่อว่าไอเดียก็เปรียบเสมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ที่ต้องมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแน่นอนอยู่แล้ว แต่ถ้าหากว่าเราไม่ได้ถามใครก่อนเลยก็ต้องมั่นใจในระดับเซียนหรือไม่ก็ต้องมีประสบการณ์ที่โชกโชนพอสมควร เพราะการยืนหยัดเพื่อไอเดียที่เราคิดเองคนเดียวโดยไม่ปรึกษาใครเนี่ย มันไม่ง่ายเลยจริงๆนะคะ
ที่บอกว่าไม่ง่าย ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเป็นต้องปรึกษาเท่านั้น แต่ถ้าเกิดมีคนทักบางอย่างขึ้นมาก็ต้องมีเขวกันบ้างแน่นอน เพราะงั้นเราแนะนำให้ปรึกษาใครสักคนค่ะ เลือกคนที่เราปรึกษาแล้วสบายใจที่สุด เวลาเค้าแนะนำเราขึ้นมาจริงๆจะได้ไม่รู้สึกต่อต้านมากเกินไป
และควรปรึกษามากกว่า 1 คนด้วยค่ะ!
เพราะการปรึกษาคนๆเดียว จะทำให้เราเรียนรู้ผ่านมุมมองที่เล็กเกินไป ควรปรึกษาหลายๆคน ทางที่ดีควรเป็นคนที่มีบางอย่างต่างกันด้วย เพราะการปรึกษาคนที่มีความคล้ายๆกันมากๆ เราอาจจะไม่ได้เห็นมุมมองใหม่ๆเลยก็ได้ (เทียบกับคนที่เราปรึกษานะคะ ไม่ได้เทียบกับตัวเรา)
ได้รับคำแนะนำที่หลากหลายมากเลย ฟังใครดี?
เมื่อลองปรึกษาหลายๆคนดูแล้ว แน่นอนว่าย่อมต้องได้รับคำแนะนำที่หลากหลายแน่นอน แต่แหม คำแนะนำเยอะขนาดนั้น เราจะเอามาปรับใช้ยังไงไหวล่ะ มีกฎข้อนึงที่เราปฏิบัติตามอยู่เสมอๆ ซึ่งเราตั้งกฎนี้ด้วยตัวเอง จากประสบการณ์ของตัวเอง
“จงอย่าเลือกฟังคำแนะนำจากความสัมพันธ์เด็ดขาด”
Q: ทำไมตั้งกฎแบบนี้น่ะหรอคะ?
A: เพราะมีประสบการณ์มาแล้วไงคะ 555
เวลาที่เราคุยกับใครสักคน เคยสังเกตตัวเองกันบ้างมั้ยคะว่าฟังเค้าด้วยอารมณ์ หรือ เหตุผล เอาจริงๆมันไม่ง่ายนะคะที่ต้องมานั่งเดาตัวเองว่าใช้อารมณ์หรือเหตุผลอยู่ โดยเฉพาะในสภาวะที่เรายังปกติไม่ได้มีอคติกับคนพูดเท่าไหร่ หรือเวลาที่คนพูดน้ำเสียงเค้านุ่ม ชวนเคลิ้ม เลยรู้สึกว่าคนนี้ต้องแนะนำดีแน่ๆ เพราะเรื่องการพูดมันเป็นเรื่องของจิตวิทยาค่ะ
ถ้าประสบการณ์เรายังอ่อนนัก อย่าตัดสินใจฟังเพราะความสัมพันธ์ของเรากับคนพูดเด็ดขาด แต่ให้สรุปเฉพาะเนื้อความเพื่อเป็นการทวนสิ่งที่เค้าพูดมา และทวนความเข้าใจของตัวเองไปด้วยว่า เข้าใจตรงกับสารที่เค้าสื่อมากน้อยแค่ไหน
ทีนี้ต่อให้เป็นคนที่เราชอบมากๆ ฟังแล้วเคลิ้มขนาดไหนก็สามารถเลือกหยิบเอาเฉพาะคำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับเราจริงๆมาใช้ได้ดีแน่นอน
วิธีแยกคำแนะนำให้เป็น 2 แบบ
Noise หรือ Feedback อันดับแรกต้องแยกให้ออกก่อนเลย เพราะ 2 คำนี้ต่างกันสุดๆ เดี๋ยวเราจะแนะนำให้ว่ามันต่างกันยังไง
- Noise ถ้าแปลตรงตัวก็คือการรบกวน แต่ในที่นี้หมายถึงคำแนะนำจากคนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักของไอเดียเรา (ถ้าเป็นไอเดียธุรกิจก็คือไม่ใช่กลุ่มลูกค้าของเรา)
- Feedback คือคำแนะนำจากคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของไอเดียเรา (ถ้าเป็นไอเดียธุรกิจก็คือกลุ่มลูกค้าของเรา)
วิธีใช้เครื่องมือนี้ คือ หลังจากที่ได้คำแนะนำมาแล้วเราต้องคัดเอาเฉพาะเนื้อๆมาวิเคราะห์ว่า คนพูดเป็นกลุ่มลูกค้าของเรารึเปล่า ซึ่งการวิเคราะห์กลุ่มลูกค้ามีได้หลายวิธี หลักๆให้นำเนื้อหาที่เค้าพูดรวมกับพฤติกรรมต่างๆของเค้าที่เรารู้มารวมกัน แล้วเปรียบเทียบกับไอเดียของเราว่าเค้าคือกลุ่มเป้าหมายของเราหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น
เรามีไอเดียธุรกิจ อยากขายน้ำชงสีๆเลยเอาตัวอย่างให้หลายๆคนชิม คนแรกที่เราคุยด้วยบอกว่าหวานเกินไป อีกคนบอกว่าจืดเกินไป
ทีนี้ต้องมาดูพฤติกรรมส่วนตัวของเค้าแล้วว่ามีอะไรต่างกัน คนแรกอาจจะไม่กินหวานเลยเป็นปกติ พอเจอความหวานระดับปกติต่อมรับรสของเค้าก็เลยทำงานหนักกว่าคนทั่วไป จึงบอกว่ามันหวานไป
ส่วนคนที่ 2 พฤติกรรมปกติอาจจะชอบกินหวานอยู่แล้ว จึงแนะนำตามรสชาติที่ตัวเองกินบ่อยๆ ที่นี้เราต้องแยกด้วยตัวเองแล้วว่าใครคือกลุ่มลูกค้าของเรา โดยต้องดูที่รายละเอียดไอเดียเราให้ดี เพราะถ้าบอกแค่ว่า “ขายน้ำชงสีๆ” มันสั้นเกินไปสำหรับคนอื่น แต่สำหรับเจ้าของไอเดียต้องรู้เยอะกว่านั้นแน่นอนว่าต้องการขายให้คนกินหวานปกติ หรือคนที่ปกติไม่กินหวานเลย
Noise หรือ Feedback เอาอะไรมาใช้ดี?
เมื่อเราเข้าใจแล้วว่า Noise และ Feedback ต่างกันอย่างไร ก็ต้องเลือกเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์กับไอเดียเราให้ได้มากที่สุด ซึ่งเราแนะนำว่าอันดับแรกเราต้องให้ความสำคัญกับ Feedback ก่อน เพราะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำเอาไอเดียไปต่อยอดให้ใช้ได้จริง ซึ่งคำแนะนำจากกลุ่มเป้าหมายของเราสำคัญที่สุดในตอนเริ่มต้น
แต่ถ้าหากว่าเราได้เริ่มต้นไปบางส่วนแล้วเกิดไอเดียอยากจะขยายกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ควรเริ่มให้ความสำคัญกับคำแนะนำที่เคยเป็น Noise มาก่อน (ต้องไม่ใช่ Noise ในปัจจุบัน) เพราะคนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายในตอนเริ่มต้น อาจจะกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายในปัจจุบันก็ได้
ทั้งนี้ทั้งนั้นกลุ่มเป้าหมายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตามพฤติกรรมของผู้คนในสังคม ดังนั้นไอเดียของเราจำเป็นต้องทันสมัยอยู่ตลอดเวลา คนที่เคยไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเราในอดีตอาจจะกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายเราในปัจจุบันก็ได้
ในเรื่องรายละเอียดของกลุ่มเป้าหมายบทความนี้เราจะไม่ลงลึกนะคะ ไว้ในอนาคตที่เราเขียนเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายแล้วจะมาอัพเดทให้อีกครั้งค่ะ
บทเรียนจากเราเอง
เรามีคติประจำใจตอนมีไอเดียแรกๆ แล้วปรึกษาหลายๆคน มีทั้งคนที่เห็นด้วย “เห้ย ดีมาก ทำเลย สนับสนุน” และไม่เห็นด้วย “จะดีหรอ มันเสี่ยงไปรึเปล่า คิดอีกทีดีมั้ย” คติของเราคือ
“ตั้งหลักให้น้อย เริ่มต้นให้เร็ว เพราะการไปต่อมันยากกว่าการเริ่มต้น”
แปลว่ายิ่งเริ่มต้นช้า เรายิ่งไปต่อได้ช้า เพราะจุดเริ่มต้นที่คิดว่ายากแล้ว จุดไปต่อนั้นยากยิ่งกว่า…